มารู้จักเกาะทะลุกันเถอะ

ประวัติความเป็นมา

 เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๔ งานโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดแหล่งเรือจมที่หน้าเกาะทะลุ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ระดับความลึกของน้ำประมาณ ๕๐ ฟุต ได้พบหลักฐานที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก

  ลักษณะทั่วไป

 พื้นที่เกาะส่วนใหญ่เป็นป่าทึบ ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้มีหาดทรายขาว เหมาะสำหรับการตั้งแคมป์ ด้านทิศตะวันตกมีสภาพเป็นผาหินสูงชันและแหลมคม ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี จะมีนกนางนวลมาเกาะบริเวณหน้าผา นอกจากนี้ยังเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลและเป็นที่อาศัยของค้างคาวแม่ไก่ ใต้ทะเลรอบเกาะทะลุโดยเฉพาะหน้าหาดทรายด้านทิศตะวันออกเป็นแนวปะการังที่สวยงาม นับเป็นแหล่งดำน้ำลึกชั้นเยี่ยมอีกแห่งหนึ่งของน่านน้ำฝั่งทะเลตะวันออก บริเวณด้านทิศเหนือจะเป็นแหลมที่มีผาหินคล้ายกับสะพานธรรมชาติ ช่วงกลางจะเป็นช่องกว้างน้ำทะเลลอดทะลุ เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่มาของชื่อเกาะทะลุ เนื้อที่ของเกาะมีประมาณ ๖๙ ไร่

  หลักฐานที่พบ

 เรือฉลอม โอ่งน้ำ ไหปากแคบ อ่างขนาดเล็ก ภาชนะรองขาตู้กับข้าว เป็นต้น นับเป็นแหล่งโบราณคดีใต้น้ำแห่งแรกของไทยที่สามารถค้นหาประวัติที่มาของเรือ และสิ่งที่พบในเรือได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด และเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเดินเรือค้าขายชายฝั่งโดยใช้เรือใบรุ่นสุดท้ายในน่านน้ำไทย

  เส้นทางเข้าสู่แหล่งเรือจมเกาะทะลุ

                 จากจังหวัดระยองมาตามถนนสุขุมวิท ถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๓๘ เลี้ยวขวาเข้าสู่ตลาดบ้านเพ ระยะทางจากทางเลี้ยวถึงตลาด ๓ กิโลเมตร จากตลาดบ้านเพไปตามถนนเลียบชายหาดประมาณ ๔ กิโลเมตรถึงสวนสน และเลยจากสวนสนไปจะเป็นแหลมแม่พิมพ์ ซึ่งการที่จะข้ามไปเกาะทะลุ ไม่มีเรือโดยสารโดยตรง ต้องเช่าเรือเร็วหรือเรือประมงเล็กข้ามไป ระยะทางจากสวนสนถึงเกาะทะลุ ประมาณ ๘.๕ กิโลเมตร หากลงเรือจากแหลมแม่พิมพ์จะมีระยะทางประมาณ ๖.๗ กิโลเมตร